สมอ. ปคบ. เอสซีจี จับมือทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 235 ล้านบาท พร้อมสกัดแพลตฟอร์มข้ามชาติขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ณ บริษัท เอสซีจีซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยีแพลนท์ จังหวัดระยอง ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์อย่างเข้มงวด หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะดำเนินการตามกฎหมายทันที การทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในครั้งนี้ เป็นการนำของกลางที่คดีถึงที่สุดแล้ว ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้ยึดอายัดสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์ ตั้งแต่ เดือนเมษายน 2566 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2567 จำนวน 409,705 ชิ้น มูลค่ารวม 235,328,163 บาท ได้แก่ ของเล่น มูลค่า 154,720,000 บาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 63,865,141 บาท และยางรถยนต์ มูลค่า 7,184,000 บาท รวมถึงสินค้าอื่น ๆ อีก 9,559,022 บาท เช่น สุขภัณฑ์ ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติก ภาชนะเมลามีน ถุงมือยางทางการแพทย์ ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ หมวกกันน็อก และเครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง เป็นต้น
ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพตามภารกิจ Quick win ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติที่เข้ามาบุกตลาดสินค้าไทย นำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย สมอ. จึงออกมาตรการสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ดังนี้ 1) ออกมาตรฐานบังคับเพิ่มอีก 58 มาตรฐาน เพื่อควบคุมการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน สมอ. มีสินค้าควบคุมจำนวน 144 รายการ มีพิกัดศุลกากร 1,985 พิกัด เมื่อออกมาตรฐานควบคุมสินค้าเพิ่ม จะทำให้มีพิกัดศุลกากรเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 2) ปรับลดเกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่าย 3) ร่วมกับกรมศุลกากรพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในเขต Free zone และ 4) นำระบบ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะเร่งชี้แจงกับตัวแทนบริษัทนำเข้า-ส่งออก และบริษัทชิปปิ้งต่าง ๆ เพื่อให้การนำเข้าสินค้าควบคุมทั้ง 144 รายการ เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั้ง 4 มาตรการตามที่กล่าวข้างต้น สมอ. ได้นำเสนอในการประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาถูกจากต่างประเทศ ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา
สำหรับการทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เอสซีจีซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยีแพลนท์ ซึ่งเป็นโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้าที่สามารถรองรับขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอน เป็นระบบปิด มีระบบการควบคุมมลพิษและของเสียตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การรับขยะอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุที่เผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบก่อสร้างถนนได้ จึงทำให้ไม่เหลือขยะอุตสาหกรรมที่ต้องกำจัดเพิ่ม ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เลขาธิการ สมอ. กล่าว
29 สิงหาคม 2567
COMMENTS