การดูแลสุขภาพเส้นผมด้วยผลิตภัณฑ์นวดผม
เชื่อว่าไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายล้วนแต่อยากมีสุขภาพผมที่แข็งแรง มีน้ำหนัก จัดทรงง่าย ไม่ชี้ฟู ไม่เปราะขาดง่ายจนทำให้ผมแห้งเสียแตกปลายแลดูเป็นประกาย แต่หากสุขภาพเส้นผมไม่เป็นอย่างที่วาดฝันไว้ “ผลิตภัณฑ์นวดผม” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เส้นผมกลับมามีชีวิตชีวานุ่มลื่นน่าสัมผัส
สาเหตุที่ทำให้ผมแห้งเสียมีหลายประการ ดังนี้
- แสงแดดและมลภาวะ
แสงแดดคือ สิ่งจำเป็นต่อชีวิตแต่แสงแดดก็ทำร้ายจนเส้นผมขาดความมีชีวิตชีวาได้ รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะส่งผลต่อเส้นผมชั้นนอกในลักษณะเดียวกับการฟอกสี ทำให้โปรตีนเคราตินในเส้นผมถูกทำลายในที่สุด ซึ่งปัจจัยนี้อาจทำให้สีผมอ่อนลง และเกิดความแห้งกร้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผมที่ทำสีจะถูกทำลายมากกว่า
- ความร้อน เช่น การเป่าผมด้วยความร้อน และการหนีบผม
ความร้อนคือ สาเหตุที่เห็นได้ชัดว่าทำให้ผมแห้งเสียและจัดทรงยาก โดยความร้อนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เส้นผมนุ่มน่าสัมผัส หากอุปกรณ์ที่ใช้เป่าผมหรือหนีบผมนั้นมีความร้อนสูงมากเกินไป ก็จะทำให้สูญเสียน้ำในเส้นผม นอกจากนี้ ฟองอากาศที่เกิดจากความร้อนก็จะก่อตัวขึ้นภายในเส้นผมที่อ่อนตัว ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผมเสีย ทั้งนี้ การใช้ความร้อนกับเส้นผมให้น้อยที่สุดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เส้นผมนุ่มสลวยแลดูสุขภาพดี
- สารเคมี เช่น การทำสีผม การทำไฮไลต์ผม และการดัดผม
น้ำยาดัดผม และน้ำยายืดผม คือ สิ่งที่ทำให้เกิดผมเสียได้ ส่วนประกอบที่เป็นสารเคมีจะเปลี่ยนรูปร่างของเส้นผม โดยขั้นแรกจะสลายพันธะไดซัลไฟด์ในเส้นผมมีการเปลี่ยนรูปร่างของพันธะเคมีให้อยู่ในตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ตรึงให้ผมมีรูปร่างใหม่และคงตัว การทำสีผมก็ทำให้ผมเสียได้เช่นกัน เพราะ เส้นผมชั้นนอกคือ ส่วนห่อหุ้มด้านนอกที่ช่วยปกป้องผมชั้นคอร์เท็กซ์ที่ประกอบไปด้วยเซลล์เรียบแบนที่เรียงซ้อนกันหกถึงแปดชั้น และห่อหุ้มด้วยชั้นไขมัน (F-layer) ที่ทำหน้าที่เป็นสารบำรุงผมตามธรรมชาติ เพื่อปกป้องชั้นคอร์เท็กซ์ ดังนั้นการเปลี่ยนสีผมซึ่งเกิดจากการที่เม็ดสีผ่านเส้นผมชั้นนอกเข้าไปยังชั้น คอร์เท็กซ์จึงเป็นการทำลายเส้นผมชั้น F-layer ด้วย
หน้าที่ของผลิตภัณฑ์นวดผมมีดังนี้
- ช่วยให้สามารถหวีผมได้ง่ายทั้งขณะผมเปียกและผมแห้ง
- ทำให้ไฟฟ้าสถิตของเส้นผมลดลง
- เพิ่มความเงางามและความหนาของเส้นผม
- ทำให้ผมอยู่ทรง
- ช่วยซ่อมแซมผมที่เสีย
- เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่เส้นผม
ผลิตภัณฑ์นวดผมมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้
- สารประเภทกรดอ่อน
ทำหน้าที่สะเทินความเป็นด่างของสารชำระล้างเพื่อไม่ให้เคราตินในเส้นผมเกิดการพองตัวและเปราะง่าย โดยปรับให้มีความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในช่วง 5.5-6.5
- สารประจุบวก
ทำหน้าที่สะเทินประจุลบบนเส้นผมที่เกิดจากแชมพู
- สารจำพวกไขมัน/น้ำมัน
ทำหน้าที่เสริมน้ำมันหล่อเลี้ยงเส้นผม
- สารให้ความชุ่มชื้น
ทำหน้าที่เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผม ทำให้ดูสลวยมีชีวิตชีวา
ผลิตภัณฑ์นวดผมชนิดล้างออกและผลิตภัณฑ์นวดผมชนิดไม่ต้องล้างออกแตกต่างกันอย่างไร
- ผลิตภัณฑ์นวดผมชนิดล้างออกมีความเป็นประจุบวก และกรดอ่อนอาจใส่สารเคลือบเส้นผมได้ในปริมาณที่น้อยเพื่อแก้ไขสภาพเส้นผมภายหลังสระให้มีลักษณะอ่อนนุ่มไม่เหนียวติดเมื่อหวีไม่พันกัน และหวี จัดทรงได้ง่าย
- ผลิตภัณฑ์นวดผมชนิดไม่ต้องล้างออกประกอบด้วยสารปรับสภาพเส้นผมซึ่งสามารถดูดซึมเข้าเส้นผมมีหน้าที่หลักในการเคลือบเงาแก่เส้นผมหรือเกิดฟิล์มบางบนเส้นผมช่วยเพิ่มน้ำหนักทำให้ผมสลวย และประกอบด้วยสารเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเส้นผมที่สามารถใช้เมื่อใดก็ได้โดยที่ไม่ต้องล้างออกอาจเติมสารประจุบวกหรือกรดอ่อนได้ในปริมาณน้อย
หยุดผมเสียด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์นวดผมให้ถูกวิธี
การเลือกผลิตภัณฑ์นวดผมให้เหมาะสมกับสภาพเส้นผมนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มเกราะป้องกันให้กับเส้นผมจากมลภาวะต่าง ๆ ผมจะได้แข็งแรงอยู่เสมอ สำหรับวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์นวดผมที่ถูกวิธีควรชโลมตั้งแต่ตรงกลางผมลงไปถึงปลายผมแล้วใช้ปลายนิ้วลูบผลิตภัณฑ์นวดผมให้ทั่วเส้นผมแล้วทิ้งไว้นาน 1-2 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเย็นตั้งแต่โคนไปสู่ปลายเส้นผมซึ่งจะช่วยปิดเกล็ดผม และเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ภายใน แต่สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ ไม่ควรชโลมผลิตภัณฑ์นวดผมลงที่หนังศีรษะเพราะทำให้หนังศีรษะมัน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการนวดหนังศีรษะ เพราะผลิตภัณฑ์นวดผมนั้นถูกออกแบบให้บำรุงเฉพาะเส้นผม นอกจาก การใช้ผลิตภัณฑ์นวดผมเป็นประจำแล้ว การอบไอน้ำและทำทรีทเมนท์เดือนละ 1-2 ครั้ง ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณหนังศีรษะ และบำรุงเส้นผมอีกด้วย
แนะนำ มอก.
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นวดผมชนิดล้างออก มาตรฐานเลขที่ มอก. 2748-2559 ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ โดยมีขอบข่ายครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์นวดผมชนิดล้างออกเท่านั้น ทั้งนี้ในบทนิยามตาม มอก. 2748-2559 ได้ให้คำนิยามของ ผลิตภัณฑ์นวดผม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปรับสภาพเส้นผมภายหลังการสระผม เพื่อช่วยให้เส้นผมมีความอ่อนนุ่ม ไม่พันกัน และหวีได้ง่าย และแบ่งประเภทตามรูปแบบของผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทโลชัน ประเภทอิมัลชัน และประเภทครีม ซึ่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฉบับนี้กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการของผลิตภัณฑ์ไว้โดยอธิบายได้พอสังเขป ดังนี้
- การทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- การทดสอบคุณลักษณะทางจุลชีววิทยา
- การทดสอบเสถียรภาพ
- คุณลักษณะเฉพาะ
- ความเป็นกรด-ด่าง
- สารเคมีปนเปื้อน
- การตรวจสอบค่าแรงเสียดทานจากการหวี
- การตรวจสอบปริมาณสารลดแรงตึงผิว
- การทดสอบการระคายเคืองต่อดวงตา
นางสาววลัญช์พัชร มิ่งมณเฑียร
นักวิชาการมาตรฐานปฏิบัติการ
กองกำหนดมาตรฐาน
กลุ่มกำหนดมาตรฐาน 5
COMMENTS