การเลือกใช้แชมพู
แชมพู หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดเส้นผม และหนังศีรษะ ในปัจจุบันพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์บริเวณหนังศีรษะเมื่อใช้แชมพูสระผม แชมพูที่มีคุณภาพต่ำมักจะผสมกับเจลอาบน้ำ โฟมล้างหน้า ยาสีฟันหรือซัลเฟต ในปริมาณมาก สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อเลือกใช้แชมพู คือ ต้องทำความสะอาดเส้นผมได้อย่างอ่อนโยน และไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ดังนั้น หากใช้แชมพูที่ไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะดังต่อไปนี้
- การระคายเคืองหนังศีรษะและดวงตา
สารซัลเฟตเป็นสารที่ช่วยให้เกิดฟองมาก แต่สารนี้เป็นอันตรายต่อเส้นผม หนังศีรษะ และดวงตา เพราะซัลเฟตเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรงเมื่อสัมผัสกับดวงตาจะทำให้รู้สึกระคายเคืองหรือแสบตาได้ และเมื่อสระผมแล้วเกิดอาการแพ้จะทำให้รู้สึกแสบหรือคันบริเวณหนังศีรษะ โดยหากรู้สึกได้ถึงความผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์
- หนังศีรษะอักเสบ
อาการหนังศีรษะอักเสบส่วนใหญ่จะพบได้ดังนี้
- ผื่นจากการระคายสัมผัส (irritant contact dermatitis) เกิดจากสาร sodium lauryl sulphate (SLS) ที่เป็นส่วนผสมอยู่ในแชมพูซึ่งสาร SLS นี้จะทำหน้าที่เป็นสารลดแรงตึงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นเพราะสาร SLS ทำให้น้ำมีแรงตึงผิวลดลงจึงเข้าไปสัมผัสกับผิวหนังได้ดีขึ้น และยังสามารถเป็นตัวประสานให้อนุภาคของของเหลวสองชนิดที่ไม่ละลายซึ่งกันและกันรวมกัน จึงทำให้น้ำกับน้ำมันเข้ากันได้ดีหรืออาจใช้เป็นตัวทำละลายก็ได้ สำหรับอาการที่มักจะสังเกตได้คือ หนังศีรษะอุดตัน และมีอาการคันร่วมด้วย
- ผื่นสัมผัสจากสารก่อภูมิแพ้ (allergic contact dermatitis) ซึ่งสาเหตุมาจากสารเคมีหลายตัว เช่น rose oil chamomile lavender สำหรับอาการที่มักจะสังเกตได้ คือ เกิดขุยที่มีลักษณะคล้ายรังแคบริเวณหนังศีรษะ
- หนังศีรษะแห้ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่หนังศีรษะ
- ผมร่วงผิดปกติ
แชมพูแต่ละยี่ห้อมีค่าความเป็นกรด–ด่าง แตกต่างกันโดยสารเคมีที่เป็นสาเหตุทำให้ผมหลุดร่วงมากที่สุดได้แก่ ammonium lauryl sulfate (ALS) และsodium alpha olefin sulfonate (AOS) ซึ่งมีฤทธิ์ที่รุนแรงแต่ราคาถูกทำให้เป็นตัวเลือกของหลายยี่ห้อนำมาเป็นส่วนผสมของแชมพู สารเหล่านี้จะทำให้ผมเริ่มแห้ง ไม่มีความชุ่มชื้น ไร้น้ำหนัก กรอบ แตกปลาย และหลุดร่วงมากกว่าปกติ
- โรคลมพิษ ชนิด contact urticaria
แชมพูที่มีกลิ่นหอมมากเกินไปเกิดจากการใส่น้ำหอมหรือสารกันบูดซึ่งอาจทำให้เกิดโรคลมพิษ ชนิด contact urticaria ได้
วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แชมพู
- ควรเลือกแชมพูที่มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดหรือชำระล้างสิ่งสกปรกได้ดี และช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้เส้นผม
- ควรเลือกแชมพูที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสม
- ไม่ควรเลือกแชมพูที่ข้นหรือหนืดมากเกินไป
- ควรเลือกแชมพูที่ไม่ระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนัง
- ควรเลือกแชมพูที่ล้างออกง่ายและไม่ทิ้งคราบตกค้างบนเส้นผม
- ควรเลือกให้เหมาะกับสภาพหนังศีรษะ เช่น คนที่มีหนังศีรษะมันหรือผมมันก็ควรเลือกแชมพูที่มีสารทำความสะอาดที่สามารถชำระล้างความมันออกไปได้ดี
- ควรเลือกให้เข้ากับความหนาบางของผม เช่น คนที่มีปัญหาผมบาง เนื่องจากความมันบนหนังศีรษะอาจทำให้ผมดูลีบแบน ดังนั้น จึงควรเลือกแชมพูที่สามารถขจัดความมันออกได้ดี และมีส่วนประกอบที่ทำให้ผมจัดทรงง่ายเพื่อปกปิดผมบางได้ดี
- ควรเลือกให้เข้ากับสภาพผม เช่น คนที่ดัดผมหรือทำสีควรเลือกใช้แชมพูที่มีสารทำความสะอาดที่ไม่แรงมาก
- ควรเลือกให้เหมาะสมกับปัญหาผม เช่น คนที่มีรังแคอาจเลือกแชมพูที่มีสารผสม zinc pyrithione selenium sulphide ketoconazole หรือ coal tar เพื่อลดอาการอักเสบของหนังศีรษะ
แนะนำ มอก.
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แชมพู มาตรฐานเลขที่ มอก.162-2558 ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ โดยมีขอบข่ายครอบคลุมแชมพูทุกประเภทที่จัดเป็นเครื่องสำอางสำหรับคน แบ่งประเภทของแชมพูออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทไม่ผสมสารขจัดรังแค และประเภทผสมสารขจัดรังแค ซึ่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฉบับนี้กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการของผลิตภัณฑ์ไว้โดยอธิบายได้พอสังเขป ดังนี้
- การทดสอบการระคายเคืองต่อผิวหนัง
- การทดสอบคุณลักษณะทางจุลชีววิทยา
- การทดสอบเสถียรภาพ (เฉพาะแชมพูที่เป็นของเหลว)
- คุณลักษณะเฉพาะ
- ความเป็นกรด-ด่าง
- สารเคมีปนเปื้อน
- สารขจัดรังแข (เฉพาะแชมพูผสมสารขจัดรังแค)
- การตรวจสอบปริมาณสารลดแรงตึงผิว
- การทดสอบการระคายเคืองต่อดวงตา
นางสาววลัญช์พัชร มิ่งมณเฑียร
นักวิชาการมาตรฐานปฏิบัติการ
กองกำหนดมาตรฐาน
กลุ่มกำหนดมาตรฐาน 5
COMMENTS